ปัญหากวนใจเรื่องฟันคุด เชื่อว่าใครหลายคนต้องพบเจอ และเกิดความสงสัยว่าจำเป็นต้องถอนไหม หากไม่ได้มีอาการเจ็บหรือปวดบริเวณที่ฟันคุดผุดขึ้นมา แล้วถ้าปล่อยไว้นานจะมีอันตรายเกิดขึ้นหรือเปล่า หากต้องการจะถอนฟันคุดต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง วันนี้เรามีคำตอบให้กับทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับฟันคุด มาให้ทุกคนได้ทำความรู้จักและเข้าใจอย่างถูกต้อง
มาทำความรู้จักกับ “ฟันคุด” กันเถอะ! (คลิกอ่านตามหัวข้อ)
ฟันคุด คืออะไร?
ฟันคุด (Wisdom Teeth) คือ ฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติภายในช่องปากของเรา เนื่องจากกระดูกขากรรไกรใหญ่ไม่เพียงพอกับขนาดของฟัน ซึ่งตำแหน่งของฟันคุดมักจะอยู่ในลำดับซี่สุดท้ายของช่องปากมีทั้งฟันบนและฟันล่าง ช่วงอายุที่ฟันคุดจะเกิดขึ้นก็คือช่วงอายุตั้งแต่ 18 – 25 ปี โดยการเกิดขึ้นของฟันคุดมักจะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป และมีความลึกของรากฟันคุดที่ไม่เท่ากัน
ลักษณะการเกิดของฟันคุด
ฟันคุดที่เกิดขึ้นภายในช่องปากของเรานั้น สามารถเกิดขึ้นได้หลายลักษณะและมีวิธีการรักษาที่ยากง่ายต่างกันไป ลักษณะการขึ้นโดยทั่วไปจะมีตำแหน่งดังนี้

ฟันคุดมีลักษณะการขึ้นที่ตั้งตรง

ฟันคุดมีลักษณะการขึ้นที่เอียง

ฟันคุดมีลักษณะการขึ้นที่นอนราบ

ฟันคุดมีลักษณะการขึ้นที่ตีลังกา
จากตัวฟันลงไปข้างล่าง
ดังนั้น หากต้องการทราบว่าตำแหน่งฟันซี่ไหนเป็นลักษณะการเกิดของฟันคุด ควรเข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และรีบทำการรักษาโดยการผ่าหรือถอนออกไป
ฟันคุดจำเป็นต้องถอนหรือไม่ ? - คลิปนี้มีคำตอบ
ถ้าช่วงอายุของเรา 18 – 25 ปี ควรถอนฟันคุดเพื่อป้องกันการติดเชื้อในอนาคตของฟันกรามซี่ที่สอง เนื่องจากเป็นตำแหน่งฟันที่ทำความสะอาดได้ยาก อาจทำให้ฟันผุได้ง่าย หรือฟันคุดที่ติดข้างในขากรรไกร อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นถุงน้ำหรือว่าเนื้องอกที่เกิดจากฟันได้เช่นเดียวกัน
คำแนะนำจาก ผศ.ทพ.วินัย ทันตแพทย์ศัลยกรรม ประจำโรงพยาบาลฟัน BIDH
ถอนฟันคุด กับ ผ่าฟันคุดต่างกันยังไง
การถอนฟันคุด คือ วิธีรักษาในกรณีที่ตัวฟันงอกพ้นเหงือกมาแล้ว แต่อาจเกิดความผิดปกติจนกลายเป็นฟันคุด ทันตแพทย์จะสามารถถอนฟันซี่นั้นออกได้แบบเดียวกับที่ถอนฟันซี่อื่นๆ ได้อย่างปกติ
การผ่าฟันคุด คือ วิธีรักษาที่จะใช้กับฟันคุดประเภทที่ฝังตัวอยู่ใต้เหงือก จนไม่สามารถงอกพ้นเหงือกออกมาได้ เพราะมีเหงือกมาคลุมปิดหนาจนเกินไป หรืออาจมีแนวกระดูกที่ขวางทาง ทำให้ไม่สามารถรักษาด้วยการถอนได้ จึงจำเป็นต้องทำการผ่าตัดเอาฟันคุดที่ฝังตัวบริเวณดังกล่าวออกมาแทน วิธีการนี้อาจจะใช้เวลานานกว่าถอนฟันคุดปกติแต่ก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งการเกิดของฟันคุด
หากสงสัยว่าฟันคุดที่เกิดขึ้นมาต้องใช้วิธีการรักษาแบบไหน ก่อนที่ทันตแพทย์จะทำการรักษาจะมีการตรวจเช็กลักษณะการเกิดของฟันคุดและแจ้งถึงวิธีการที่เหมาะสมกับคนไข้ก่อนทำการรักษา
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : ผ่าฟันคุดไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เคล็ดลับสำหรับคนที่กลัวการทำฟัน (คลิก)
เตรียมตัวอย่างไร ก่อนไปถอนฟันคุด

การถอนหรือผ่าฟันคุด คนไข้สามารถรับประทานอาหารก่อนมาพบทันตแพทย์ได้ เพราะเวลาที่ถอนหรือผ่าฟันคุดเสร็จแล้ว คนไข้จะมีความรู้สึกชาจนไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้สักพัก และเมื่อหายชาแล้วจะมีอาการเจ็บและปวดตามมาบริเวณที่ถอนออก ทำให้ไม่อยากรับประทานอาหาร
คนไข้ควรแจ้งประวัติสุขภาพตามจริงให้กับทันตแพทย์ก่อนเข้ารับการรักษา หากมีโรคประจำตัวที่มีความกังวลควรปรึกษาทันตแพทย์ก่อน เพราะการถอนฟันจำเป็นต้องฉีดยาชาเฉพาะที่ แล้วยังมีเลือดออกในขณะถอนและหลังถอนฟัน รวมถึงมีการจ่ายยาแก้ปวดและยาปฏิชีวนะร่วมด้วย เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดและอักเสบหลังจากถอนฟัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่คนไข้ต้องแจ้งโรคประจำตัวให้กับทันตแพทย์ก่อนทำการรักษา
ควรงดสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮล์ก่อนมาถอนฟันคุด พร้อมดูแลสุขอนามัยช่องปากด้วยการแปรงฟันให้สะอาดก่อนเข้ารับการรักษา
ถอนฟันคุดกี่วันหาย
คนไข้อาจมีอาการบวมภายในช่องปากและแก้ม อาการบวมนี้จะค่อนข้างรุนแรงในช่วงวันแรก ๆ หลังจากผ่าตัดหรือถอนฟันคุดออกไป จากนั้นอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น ซึ่งสามารถประคบเย็นเพื่อช่วยลดอาการบวมได้ โดยระยะเวลาฟื้นตัวหลังถอนฟันคุดทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 3–4 วัน หรือไม่เกิน 1 สัปดาห์ หากนานกว่านั้น แนะนำให้เข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจดูอาการ อาจเกิดการอักเสบหลังจากถอนหรือผ่าฟันคุด
การดูแลตัวเองหลังถอนฟันคุด
หลังการถอนฟันคุดคนไข้สามารถกลับบ้านได้ทันที เลือดจะหยุดไหลภายใน 1 ชั่วโมง และแผลจะสามารถสมานตัวได้เอง แต่การดูแลรักษาความสะอาดยังคงเป็นสิ่งสำคัญ การทำความสะอาดช่วงแรกๆ อาจจะต้องทำความสะอาดแบบเบามือ เพื่อหลีกเลี่ยงการอักเสบติดเชื้อบริเวณแผลได้ และควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากๆ หรือการอยู่กลางแจ้ง
วิธีการดูแลหลังจากถอนฟันคุด
- ควรกัดผ้าก๊อซไว้แน่นๆ ประมาณ 30 – 60 นาที เพื่อห้ามเลือด และควรเปลี่ยนผ้าชิ้นใหม่หลังจากนั้นจนกว่าเลือดจะหยุดไหล
- ไม่ควรใช้น้ำยาบ้วนปากภายใน 6 ชั่วโมงหลังการถอนฟัน
- ห้ามใช้ลิ้นดุนหรือดูดแผลเล่น จะทำให้เลือดไม่หยุดไหล
- ในกรณีที่มีเลือดออกเล็กน้อย ควรทำการอมน้ำเกลือเย็นๆไว้สักครู่
- สามารถบ้วนปากได้ด้วยน้ำเกลือ ( เกลือ 1 ช้อนชา + น้ำอุ่น 1 แก้ว 250 มล. ) 12 ชั่วโมงหลังการถอนฟัน
- สามารถแปรงฟันได้ตามปกติ แต่ควรให้ความระมัดระวังบริเวณแผล
- รับประทานยาแก้ปวดตามที่ทันตแพทย์แนะนำ และใช้น้ำแข็งประคบประมาณ 15 – 30 นาที เพื่อลดอาการเจ็บปวดและอาการบวม
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : ถอนฟัน ผ่าฟันคุด มีกี่แบบ คำแนะนำในการดูแลหลังถอนฟันมีอะไรบ้าง (คลิก)
หลังถอนฟันคุดห้ามกินอะไรบ้าง
ควรงดรับประทานที่มีอาหารเผ็ด ร้อน รสจัด และโดยเฉพาะแอลกอฮอล์ไม่ควรดื่มเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้แผลหายช้า ควรทานอาหารที่สามารถทานได้ง่าย เช่น ข้าวต้มหรืออาหารนิ่มๆ
เลือกถอนฟันคุดที่ไหนดี ?
การเลือกทำทันตกรรมควรเลือกคลินิกหรือโรงพยาบาลที่ได้รับมาตรฐานความปลอดภัย ที่โรงพยาบาลทันตกรรม BIDH มีความพร้อมที่ครบครันในเรื่องของการรักษา ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมากประสบการณ์ โรงพยาบาลกว้างขวาง และสะอาด มั่นใจได้เลยว่าคนไข้จะได้รับการรักษาที่ปลอดภัย
สำหรับผู้ที่กลัวการผ่าฟันคุด
และมีความกังวลเกี่ยวกับการผ่าตัด
โรงพยาบาลทันตกรรม BIDH มีให้บริการยาคลายความกังวลหรือดมยาสลบ เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลไม่กี่แห่งของประเทศไทยที่ให้บริการ ภายใต้การดูแลที่ปลอดภัยของวิสัญญีแพทย์เฉพาะทาง ทำให้คนไข้สามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างสบายใจ
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : ทันตกรรมภายใต้การดมยาสลบ (คลิก)
สรุป
ทันตแพทย์แนะนำว่าหากพบว่ามีฟันคุดเกิดขึ้นภายในช่องปาก ควรเข้ารับการรักษาด้วยการผ่า หรือ ถอนออก เพื่อป้องกันการติดเชื้อในอนาคต (โรคเหงือก เนื้องอกจากฟัน) ส่งผลให้ฟันซี่ข้างเคียงสามารถผุได้ง่ายขึ้น เป็นต้น
ดังนั้นการถอนฟันคุดเป็นเรื่องจำเป็นที่คนไข้ต้องรักษาด้วยการถอนออกไป เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดี
ติดต่อเรา โรงพยาบาลฟัน สุขุมวิท ซอย 2
โรงพยาบาลทันตกรรมกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล (BIDH)
98 ซอยสุขุมวิท 2 แขวงคลองเตย, เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร 10110
Tel : 02-115-8977, 095-517-1587
Email : contact@dentalhospitalthailand.com
LINE ID : @DentalHospital