ทุกคำถาม มีคำตอบ ใครที่มีปัญหาคาใจเกี่ยวกับ รากฟันเทียม วันนี้เราได้รับเกียรติจาก ผศ.รท.ทพ.ชัชชัย คุณาวิศรุต ทันตแพทย์เฉพาะทางรากฟันเทียม ที่จะมาตอบข้อข้องใจเกี่ยวกับรากเทียม ทั้งหมด 16 ข้อเลยทีเดียว
สารบัญเนื้อหา
- รากฟันเทียม คืออะไร?
- ใครบ้าง? ที่ต้องทำรากฟันเทียม
- มีโรคประจำตัว หรือ สูงอายุสามารถทำรากฟันเทียมได้หรือไม่
- ถ้าฟันหายไปหลายซี่ ต้องทำรากเทียมทดแทนทุกซี่ หรือไม่?
- ขั้นตอนการรักษา โดยใช้รากฟันเทียมเป็นอย่างไร
- ใช้เวลารักษานานเท่าไหร่
- ทำไมต้องมีการเสริมกระดูก แล้วใช้กระดูกจากที่ไหน
- ฟังดูน่ากลัว เจ็บไหม
- ทำเสร็จแล้วเหมือนฟันธรรมชาติเลยใช่ไหม
- ทำรากฟันเทียมมีผลข้างเคียงหรือไม่
- ต้องดูแลรักษารากฟันเทียมอย่างไร
- ทำรากฟันเทียมแล้ว เดินผ่านเครื่องตรวจโลหะที่สนามบินได้ไหม หรือจะทำ MRI ได้ไหม
- เห็นมีรากเทียมหลายแบบ หลายยี่ห้อ จะเลือกรากเทียมอย่างไรดี
- หากรากฟันเทียมเป็นไทเทเนียม แล้วตัวฟันข้างบนรากฟันเทียมล่ะ ต้องเป็นไทเทเนียมด้วยไหม
- ทำแล้วอยู่ได้กี่ปี
- ถ้าฝังรากฟันเทียมแล้วไม่ติดกับกระดูก หรือใช้ไปนานๆ แล้วรากฟันเทียมโยก สามารถทำใหม่ได้หรือไม่
รากฟันเทียม คืออะไร?

รากฟันเทียมเป็นหมุดไทเทเนียม ที่ทันตแพทย์ใช้แทนรากฟันจริง นำมาฝังลงในกระดูกขากรรไกรของผู้ป่วยที่สูญเสียฟันจริงไป แล้วใช้รากฟันเทียมนั้น ในการทำฟันขึ้นมาทดแทนฟันที่สูญเสียไป หรือ ใช้รากฟันเทียมเป็นหลักยึดสำหรับการใส่ฟันปลอมถอดได้ เพื่อให้ฟันปลอมถอดได้แน่นขึ้นครับ
ใครบ้าง? ที่ต้องทำรากเทียม

เมื่อผู้ป่วยมีการสูญเสียฟันไป ก็ควรที่จะต้องมีการใส่ฟันทดแทนครับ โดยรากฟันเทียมเป็นการใส่ฟันทดแทนรูปแบบหนึ่ง สามารถทำได้ทั้งในกรณีที่สูญเสียฟันไปตั้งแต่หนึ่งซี่ หรือหลายซี่ หรือแม้แต่ในกรณีที่ไม่มีฟันเหลือเลย ก็สามารถทำรากฟันเทียมได้ ขึ้นกับวัตถุประสงค์ในการใช้รากฟันเทียม
ผู้ป่วยที่สูญเสียฟันหน้า ก็สามารถทำรากฟันเทียมทดแทนฟันหน้าเพื่อความสวยงาม หรือผู้ป่วยที่ใส่ฟันปลอมทั้งปาก แล้วรู้สึกว่าฟันปลอมหลวม ก็สามารถทำรากฟันเทียมเพียง 2-4 ซี่เพื่อช่วยยึดฟันปลอม หรือใช้รากฟันเทียม4-8 ซี่ แล้วทำเป็นฟันติดแน่น โดยไม่ต้องใส่ฟันปลอมถอดได้อีกต่อไปครับ
มีโรคประจำตัว หรือ สูงอายุสามารถทำรากฟันเทียมได้หรือไม่

ผู้สูงอายุที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงสามารถทำรากฟันเทียมได้ครับ เพราะอันที่จริงแล้ว รากฟันเทียมในสมัยแรกเริ่มถูกออกแบบมาให้กับผู้สูงอายุที่ไม่มีฟันเลย สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่น ความดันสูง เบาหวาน หากควบคุมได้ดี ก็สามารถทำรากฟันเทียมได้ครับ
นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยที่ได้รับยาบางประเภท เช่นยาละลายลิ่มเลือด หรือยารักษาโรคกระดูกพรุน ซึ่งอาจมีผลต่อการให้การรักษาโดยรากฟันเทียม อาจจำเป็นต้องหยุดยาก่อน ทั้งนี้ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหรือได้รับยาสลายลิ่มเลือด หรือยารักษาโรคกระดูกพรุน ควรเข้ารับการปรึกษากับแพทย์ประจำตัว และทันตแพทย์ผู้ทำการรักษาก่อนครับ
ถ้าฟันหายไปหลายซี่ ต้องทำรากเทียมทดแทนทุกซี่ หรือไม่?

ไม่จำเป็นต้องทำรากเทียมทดแทนฟันทุกซี่เสมอไปครับ ในบางกรณีเราอาจใช้รากเทียมแค่สองตัว แต่ทำเป็นสะพานฟันที่มีฟันทั้งหมด 3-4 ซี่ก็ได้ ขึ้นกับปัจจัยหลายๆ ประการ เช่น ความต้องการของผู้ป่วย ลักษณะการสบฟันในช่องปาก ปริมาณกระดูกที่มี การทำความสะอาดเป็นต้น
ขั้นตอนการรักษา โดยใช้รากฟันเทียมเป็นอย่างไร

ขั้นตอนการรักษาในผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีความแตกต่างกัน แต่โดยทั่วไป เมื่อผู้ป่วยพบทันตแพทย์เพื่อรับการรักษาด้วยรากฟันเทียม ทันตแพทย์ก็จะซักประวัติ ตรวจสภาพในช่องปาก อาจต้องมีการพิมพ์ปาก และส่งถ่ายภาพรังสี เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสม หลังจากพูดคุยแผนการรักษากันแล้ว
การรักษาจะเริ่มต้นด้วยการฝังรากฟันเทียมโดยใช้การฉีดยาชาเฉพาะที่ คล้ายๆ กับการถอนฟัน โดยหลังจากฝังรากฟันเทียมไปแล้ว ก็มีความจำเป็นต้องรอให้กระดูกมายึดติดกับรากฟันเทียมให้ดีเสียก่อน ซึ่งใช้เวลาตั้งแต่ 2 – 6 เดือน แล้วแต่ปริมาณ และคุณภาพกระดูกที่มี
หลังจากมั่นใจว่ารากเทียมกับกระดูกยึดติดกันดีแล้ว ทันตแพทย์ก็จะทำการพิมพ์ปาก เพื่อทำฟันใส่บนรากฟันเทียมต่อไป ซึ่งกระบวนการนี้ขึ้นกับความซับซ้อน ของการใส่ฟัน อาจใช้เวลาอีกแค่ประมาณ 3-5 วัน หรือ หลายสัปดาห์ครับ
อ่านเพิ่มเติม : การทำรากฟันเทียมภายใน 1 วัน
ใช้เวลารักษานานเท่าไหร่?

ในกรณีที่เป็นการรักษาแบบตรงไปตรงมา มักจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนนับตั้งแต่วันที่ฝังรากฟันเทียม จนถึงวันที่ใส่ฟัน แต่ในกรณีที่มีความยาก สลับซับซ้อน เช่นมีการเสริมกระดูกร่วมด้วย อาจจะต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น
ทำไมต้องมีการเสริมกระดูก แล้วใช้กระดูกจากที่ไหน

ผู้ป่วยบางคนที่สูญเสียฟันไปนาน จะทำให้ปริมาณกระดูกที่มี ไม่เพียงพอต่อการฝังรากฟันเทียม ดังนั้นจึงต้องมีการเสริมกระดูกร่วมด้วย โดยในบางกรณีที่มีกระดูกน้อยมากๆ อาจจะต้องมีความจำเป็นต้องเสริมกระดูกก่อน แล้วรอระยะเวลาประมาณ 6 เดือน จึงจะสามารถฝังรากเทียมได้
แต่ในกรณีที่มีกระดูกอยู่บ้างก็สามารถฝังรากฟันเทียมพร้อมกับการเสริมกระดูกไปด้วยกันเลย ก็จะประหยัดเวลาการรักษาได้มากกว่า ส่วนกระดูกที่ใช้มีหลายลักษณะ ตั้งแต่ใช้กระดูกของคนไข้เอง หรือ กระดูกสังเคราะห์ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อการทำรากฟันเทียมโดยเฉพาะ ทั้งนี้ทันตแพทย์ผู้ให้การรักษาจะเป็นผู้ประเมินถึงความเหมาะสม ว่าสมควรใช้กระดูกประเภทใดมาเสริมครับ
ทำรากเทียมฟังดูน่ากลัว เจ็บไหม?

ฟังดูแล้วอาจจะน่ากลัว แต่จริงๆ แล้วการทำรากฟันเทียมไม่ได้สร้างความเจ็บปวดอย่างที่คิด เนื่องจากเทคโนโลยี และประสิทธิภาพของยาชาในปัจจุบัน ทำให้เราสามารถฝังรากฟันเทียมโดยก่อให้เกิดความเจ็บปวดน้อยมาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของการรักษาด้วย
โดยในระหว่างฝังรากฟันเทียม ทันตแพทย์ต้องมั่นใจว่าผู้ป่วยมีอาการชาแล้วจริงๆ จึงไม่มีความเจ็บปวดในขณะทำ ส่วนความเจ็บปวดหลังการฝังรากฟันเทียม ก็สามารถเปรียบเทียบได้ใกล้เคียง หรือน้อยกว่าการถอนฟันเสียด้วยซ้ำ และทันตแพทย์ก็จะให้ยาแก้ปวดกับผู้ป่วยซึ่งสามารถลดความเจ็บปวดหลังทำได้อย่างมีประสิทธิภาพครับ
ทำรากฟันเทียมมีผลข้างเคียงหรือไม่

เนื่องจากการทำรากฟันเทียม จะต้องฝังรากฟันเทียมลงไปในกระดูกขากรรไกร ทันตแพทย์ผู้ทำการฝังรากฟันเทียมจำเป็นจะต้องทำการตรวจให้แน่ใจว่า ไม่มีอวัยวะสำคัญเช่นเส้นประสาท หรือเส้นเลือดใหญ่ๆ ในบริเวณที่จะฝังรากฟันเทียมนั้น ดังนั้นหากวางแผนการรักษาได้ดีและเหมาะสม โอกาสการเกิดผลข้างเคียงจะมีน้อยมาก
อย่างไรก็ตามถึงแม้รากฟันเทียมส่วนใหญ่ที่ฝังลงในกระดูกขากรรไกรมักจะยึดติดกับกระดูกได้ดี โดยการศึกษาส่วนใหญ่พบว่า โอกาสที่รากฟันเทียมจะยึดติดกับกระดูกได้ดีนั้น สูงมากกว่า 96% แต่ก็มีบางกรณีกระดูกอาจจะไม่ยึดกับรากฟันเทียมได้แน่นพอ
โดยเฉพาะในกรณีของผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ โดยพบว่า การฝังรากฟันเทียมในผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ มีโอกาสที่รากฟันเทียมจะไม่ยึดติดกับกระดูกสูงกว่า ในผู้ป่วยที่ไม่สูบบุหรี่ ดังนั้นผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ ควรพิจารณาถึงการเลิกสูบบุหรี่ก่อนการรับการรักษาโดยการฝังรากฟันเทียมครับ
ต้องดูแลรักษารากฟันเทียมอย่างไร

หลังจากใส่ฟันบนรากฟันเทียมไปแล้ว การดูแลรักษาก็จะเหมือนกับการดูแลรักษาฟันธรรมชาติ นั่นคือการแปรงฟันทำความสะอาด รวมถึงการใช้ไหมขัดฟัน หรือแปรงซอกฟันร่วมด้วย สำหรับในกรณีที่ใช้รากฟันเทียมเป็นหมุดยึดสำหรับฟันปลอมถอดได้ ก็จำเป็นต้องถอดฟันปลอมถอดได้มาล้างทำความสะอาด และใช้ผ้าก๊อซสะอาดๆ
หรือแปรงสีฟันขนนุ่ม ทำความสะอาดรอบๆ รากฟันเทียมในช่องปากด้วยเช่นกัน เพราะถึงแม้รากฟันเทียมจะไม่มีวันผุ เหมือนกับฟันจริง แต่หากทำความสะอาดไม่ดี ก็จะทำให้เหงือก รอบๆ รากฟันเทียมอักเสบ และส่งผลทำให้กระดูกที่รองรับรากฟันเทียมเกิดการละลายได้ ส่งผลให้รากฟันเทียมเริ่มโยกและหลุดออกมาได้เช่นกันครับ
ทำรากฟันเทียมแล้ว เดินผ่านเครื่องตรวจโลหะที่สนามบินได้ไหม หรือจะทำ MRI ได้ไหม

เนื่องจากรากฟันเทียมมีขนาดเล็ก ทำมาจากไทเทเนียม และถูกล้อมรอบด้วยกระดูก ดังนั้นจึงมักไม่ส่งผลต่อเครื่องตรวจโลหะที่สนามบิน ยกเว้นตั้งค่าการตรวจของเครื่องตรวจโลหะให้มีความละเอียดสูงขึ้น สำหรับการตรวจ MRI ที่ใช้คลื่นสนามแม่เหล็กในการตรวจ อาจจะมีผลบ้างในเรื่องของคุณภาพของภาพ MRI ที่ได้
แต่ไม่ได้มีอันตรายต่อผู้เข้ารับการตรวจแต่อย่างใด ทั้งนี้ควรแจ้งแพทย์ที่ทำการตรวจ MRI ให้ทราบว่า ท่านมีรากฟันเทียมอยู่ในปากครับ
อ่านเพิ่มเติม : Magnetic Resonance Imaging (MRI) คืออะไร?
หากรากฟันเทียมเป็นไทเทเนียม แล้วตัวฟันข้างบนรากฟันเทียมล่ะ ต้องเป็นไทเทเนียมด้วยไหม

สำหรับตัวฟันบนรากฟันเทียมนั้นสามารถเลือกได้หลายรูปแบบ ขึ้นกับลักษณะการใช้งาน และความต้องการของผู้ป่วยเอง เช่นในกรณีทำรากฟันเทียมเพื่อทดแทนฟันกรามที่สูญเสียไป อาจะเลือกชนิดของครอบฟันเป็นโลหะ เนื่องจากอยู่ลึกภายในช่องปาก และมองไม่ค่อยเห็น และต้องการความแข็งแรงเป็นหลัก
หรือถ้าต้องการเลือกเป็นชนิดสีเหมือนฟัน ก็อาจจะเลือกครอบฟันที่ทำมาจากเซรามิคทั้งชิ้นที่มีความแข็งแรงสูงก็ได้ สำหรับในฟันหน้าที่ต้องเน้นความสวยงามเป็นหลัก การเลือกครอบฟันที่ทำมาจากเซรามิค ที่มีความโปร่งแสงใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติ ก็อาจเป็นคำตอบที่เหมาะสมกว่า ในบริเวณที่ต้องการความสวยงามครับ
เห็นมีรากเทียมหลายแบบ หลายยี่ห้อ จะเลือกรากเทียมอย่างไรดี

รากฟันเทียมในท้องตลาดมีมากมายหลายยี่ห้อ แตกต่างกันตั้งแต่บริษัทผู้ผลิตในหลายประเทซ ทั้งสวิสเซอร์แลนด์ เยอรมัน อเมริกา เกาหลี หรือแม้แต่ผลิตในประเทศไทย ราคาค่าใช้จ่ายก็จะแตกต่างกันไป รากฟันเทียมมีหลายรูปร่าง ถูกออกแบบมาใช้งานในบางลักษณะที่ไม่เหมือนกันเช่นถูกออกแบบมาใช้ในกรณีที่ถอนฟัน และฝังรากเทียมทันที หรือ ในกรณีที่มีปริมาณกระดูกจำกัด หรือคุณภาพกระดูกที่ไม่ดี
*ทั้งนี้ควรขอคำปรึกษาจากทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ถึงรากฟันเทียมรูปแบบต่างๆ มากกว่า ตัดสินใจเลือกรากฟันเทียมด้วยตนเอง
รากฟันเทียม ทำแล้วอยู่ได้กี่ปี

อายุของรากฟันเทียม ก็ขึ้นอยู่กับการใช้งาน และการดูแลรักษาความสะอาดของผู้ป่วยด้วย เนื่องจากรากฟันเทียมเป็นเทคโนโลยีการทดแทนฟันที่สูญเสียไปที่ใกล้เคียงธรรมชาติที่สุดในปัจจุบัน ดังนั้นการดูแลรักษาจึงเป็นสิ่งสำคัญ มีการศึกษาที่ติดตามผลการรักษาด้วยรากฟันเทียม พบว่าแม้เวลาผ่านไปมากกว่า 30 ปี รากฟันเทียมก็ยังมีสภาพดีอยู่
หากผู้ป่วยใส่ใจดูแลรักษาความสะอาดให้ดี สำหรับส่วนของครอบฟันหรือฟันปลอมบนรากเทียม ก็อาจจะต้องมีการทำใหม่ หรือซ่อมแซมบ้าง ขึ้นอยู่กับการใช้งานเช่นกันครับ
นอกจากนี้หลังจากทำรากฟันเทียมไปแล้ว ผู้ป่วยก็ควรกลับไปพบกับทันตแพทย์เป็นระยะๆ ทุก 6 เดือนถึง 1 ปี เพื่อตรวจสภาพรากเทียม เหงือก และกระดูกรอบๆรากเทียมอย่างสม่ำเสมอ
ถ้าฝังรากฟันเทียมแล้วไม่ติดกับกระดูก หรือใช้ไปนานๆ แล้วรากฟันเทียมโยก สามารถทำใหม่ได้หรือไม่

ในกรณีที่รากฟันเทียมไม่ยึดติดกับกระดูก หรือยึดติดกับกระดูกไปแล้ว แต่การรักษาความสะอาดที่ไม่ดีทำให้รากฟันเทียมโยกและจำเป็นต้องถอนออกนั้น ทันตแพทย์จำเป็นทีจะต้องพิจารณาปริมาณกระดูกที่เหลืออยู่ว่ามีเหลือมากน้อยเพียงใด สามารถฝังรากฟันเทียมใหม่ได้หรือไม่ หรือจำเป็นต้องมีการเสริมกระดูกร่วมด้วยหรือไม่ครับ
รากฟันเทียมเหมือนฟันธรรมชาติเลยไหม

รากฟันเทียม อย่างไรก็เป็นของเทียม จะให้เหมือนกับฟันธรรมชาติแบบ 100% คงเป็นไปไม่ได้ครับ ทันตแพทย์จะพยายามทำให้ใกล้เคียงฟันธรรมชาติให้มากที่สุด ทั้งนี้ขึ้นกับหลายๆ ปัจจัย เช่น ประมาณกระดูกที่มี การวางแผนการรักษาที่เหมาะสม ตลอดจนความร่วมมือของผู้ป่วยในการทำการรักษาด้วยครับ

“หวังว่า 16 ข้อคำถามที่พบบ่อย จะทำให้ทุกท่านเข้าใจและคลายความกังวลกับการทำรากฟันเทียมลงบ้าง ถ้าท่านคิดว่า ท่านเป็นผู้หนึ่งที่อาจได้รับประโยชน์จากการรักษาจากรากฟันเทียม หรือยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับรากฟันเทียมอยู่ ท่านสามารถขอคำแนะนำ และคำปรึกษาได้จากทันตแพทย์ก่อนการตัดสินใจได้เสมอครับ”
ผศ.รท.ทพ.ชัชชัย คุณาวิศรุต
( ทันตแพทย์เฉพาะทางรากฟันเทียม)
ติดต่อเรา
98 ซอยสุขุมวิท 2 แขวงคลองเตย, เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร 10110
Tel : 02-115-8977, 095-517-1587
LINE ID : @DentalHospital
