ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่เริ่มหันมาใส่ใจบุคลิกภาพของตัวเอง ให้มีความดูดีอยู่เสมอ ความมั่นใจที่มาจากภายในส่งมายังภายนอก ไม่ว่าจะเป็นทรงผม การแต่งกาย ท่าทางขณะเคลื่อนไหว การใช้สีหน้า แววตา เเละที่สำคัญมากๆ เลยก็คือ การสื่อสาร การใช้คำพูด น้ำเสียง โดยคู่สนทนาจะมองปากเราเป็นอย่างเเรก เราจึงต้องให้ความสำคัญกับตรงนี้เป็นอย่างมาก
ซึ่งเราสามารถเริ่มต้นทำให้ดูดีได้ง่าย คือ การดูเเลสุขภาพช่องปากเเละฟันให้สะอาด แปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์เเละใช้ไหมขัดฟัน พบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน เพื่อทำการตรวจฟันและรับการรักษาที่จำเป็น รวมถึงการขูดหินปูนและการกำจัดคราบสีต่างๆ ตามความจำเป็น เพียงเท่านี้ก็สามารถสร้างความประทับใจให้กับคู่สนทนาหรือผู้ที่พบเห็นได้เเล้ว
นอกจากนั้นถ้าฟันเราขาวสะอาด ปราศจากคราบเหลือง จะยิ่งเสริมบุคลิกให้เราดูดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีวิธีที่เราสามารถทำได้ คือ “ฟอกสีฟัน”
ฟอกสีฟัน หรือ ฟอกฟันขาว คืออะไร?
การฟอกสีฟัน หรือ ฟอกฟันขาว เป็นการรักษาทางทันตกรรมที่ช่วยให้ฟันที่มีสีคล้ำ สีเหลือง กลับมามีสีขาวสดใสขึ้น โดยการใช้สารฟอกสีฟัน การฟอกสีฟันแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ การฟอกสีฟันในฟันที่มีชีวิต (vital tooth bleaching) และ การฟอกสีฟันในฟันที่ไม่มีชีวิต (non-vital tooth bleaching)
อ่านเพิ่มเติม : ฟอกสีฟัน TEETH WHITENING (คลิก)
ฟันเปลี่ยนสี ฟันมีคราบสีเหลือง มีแบบใดบ้าง
ปัจจัยที่ทำให้ฟันมีคราบสี มีได้ 2 แบบ คือ

1. การมีคราบสีภายใน (intrinsic stain)
เกิดจากคราบสีภายในที่เกิดตั้งแต่ช่วงการสร้างฟัน เช่น คราบสีจากการได้รับยา Tetracyclines (เตตราไซคลีน) ฟันตกกระจากการได้รับฟลูออไรด์เกิน หรือมีสภาวะที่ทำให้เกิดการสร้างผิวเคลือบฟันที่ผิดปกติ และการเข้มขึ้นของสีฟันที่เกิดได้เมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งฟันจะมีความหนาของเนื้อฟันเพิ่มขึ้น เคลือบฟันบางลง ฟันที่ไม่มีชีวิต มีการเปลี่ยนสีจากภายในเช่นกัน
2. การมีคราบสีภายนอก (extrinsic stain)
มีการสะสมของสารจากอาหารต่างๆ ที่มีสี เช่น ชา กาแฟ ช็อกโกแลต และจากการสูบบุหรี่ ซึ่งคราบเหล่านี้จะสามารถกำจัดออกได้จากการขัดทำความสะอาดผิวฟัน ซึ่งทำได้ด้วยการขัดด้วยหัวขัดยาง และผงขัดหรือการใช้ airflow
อ่านเพิ่มเติม : การขัดฟัน ทำความสะอาดผิวฟันด้วย Airflow (คลิก)
การฟอกสีฟันในฟันที่มีชีวิต
การฟอกสีฟันที่มีชีวิตผู้ป่วยที่เหมาะสมในการให้การรักษาด้วยการฟอกสีฟันคือ ผู้ที่มีคราบสีประเภทภายในเป็นหลัก รวมถึงฟันที่เกิดคราบสีภายนอกที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการขัดทำความสะอาดฟัน เช่นการติดสีในบริเวณที่มีการสร้างฟันผิดปกติ หรือพื้นผิวที่ไม่เรียบ รวมถึงผู้ที่ต้องการฟอกสีฟันให้เนื้อฟันปกติสีขาวขึ้นเพื่อความสวยงาม การฟอกสีฟันมีชีวิตมีด้วยกัน 2 ประเภท
ประเภทของการฟอกสีฟัน
การฟอกสีฟันจะมีด้วยกัน 2 ประเภท คือ

1. การฟอกสีฟันโดยทันตแพทย์ที่สถานพยาบาล (In-office bleaching)
การฟอกสีฟันโดยทันตแพทย์ที่สถานพยาบาล ที่โรงพยาบาล BIDH เราเลือกใช้ Zoom! ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและการยอมรับจากสหรัฐอเมริกา รวมถึงสามารถปรับความเข้มข้นและความร้อนของแสงให้เหมาะกับแต่ละคนได้ด้วย ให้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจในเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
อ่านเพิ่มเติม ฟอกสีฟัน ZOOMประโยชน์ของการฟอกสีฟันในคลินิก
- ได้ผลลัพธ์ที่รวดเร็วทันทีหลังการรักษา
- ความผ่อนคลายในการเข้ารับการรักษาที่คลินิกทันตกรรม ปลอดภัยคลายกังวล

Zoom Whitening’s Top Provider certificate in Thailand

2. การฟอกสีฟันด้วยตนเองที่บ้าน (Home bleaching)
ทันตแพทย์จะทำการตรวจสภาพฟัน และทำการพิมพ์ปาก เพื่อทำถาดฟอกสีฟันให้เฉพาะบุคคล โดยทำการปรับแต่งให้มีความพอดีกับช่องปากเเละฟันของคนไข้ เพื่อให้ได้ความพอดีในช่องปาก และลดอัตราการรั่วของน้ำยาฟอกสีฟันในช่องปากลง ซึ่งจะมีประสิทธิภาพสูงกว่าชุดฟอกสีฟันตามร้านทั่วไป
อ่านเพิ่มเติม การฟอกสีที่บ้านคำแนะนำการดูแล หลังการฟอกสีฟันระหว่างและหลังการฟอกสีฟันที่บ้าน :
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มและอาหารที่ย้อมสี เช่น กาแฟ, ชา, ไวน์แดง
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และยาสูบในช่วงเวลาที่ใช้ชุดฟอกสีที่บ้าน
- ทำความสะอาด แปรงฟันตามปกติทุกวันและหลังจากการฟอกสีฟันแต่ละครั้ง
- หากมีอาการเสียวฟัน ควรลดเวลาในการใส่ถาดฟอกสีฟันลง หรือ ทิ้งช่วงห่างระหว่าง การฟอกสีฟันแต่ละครั้งให้มากขึ้น (เช่น หากปกติใส่ถาดฟอกสีฟันครั้งละ 6 ชั่วโมง ก็ควรลดลงให้เหลือเพียง 5 ชั่วโมง หรือในบางกรณีที่ทำทุกวัน ก็ให้ทำวันเว้นวัน เป็นต้น)
- การรับประทานยาแก้ปวด ในกลุ่มยา NSAIDs จะช่วยลดอาการเสียวฟันได้ และควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อเลือกใช้ยาที่เหมาะสม
- การใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ จะสามารถช่วยลดอาการเสียวฟันได้
อย่าเพิ่งฟอกสีฟัน! หากคุณ
- มีอายุน้อยกว่า 16 ปี เพราะโพรงประสาทมีการเจริญเติบโต ทำให้การฟอกฟันมีการระคายเคือง
- ผู้ที่มีปัญหาต่างๆในช่องปากเช่น เสียวฟัน ฟันผุ เหงือกอักเสบ ควรปรึกษาทันตแพทย์ก่อนฟอกสีฟัน
- หญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร แม้ไม่มีข้อมูลที่ระบุว่ามีผลเสียแต่อย่างใด แต่เราแนะนำว่าควรรอก่อน
- อยู่ในระหว่างการรักษาโรคประจำตัวที่ต้องทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง เช่น โรคมะเร็ง โรคแพ้แสง ขอแนะนำให้ปรึกษากับแพทย์ของท่านก่อนเข้ารับการฟอกสีฟัน

“อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ของการฟอกสีฟันสำหรับแต่ละคนนั้นแตกต่างกันไป และคุณควรปรึกษาทันตแพทย์ที่เกี่ยวข้อเพื่อหาวิธีการฟอกฟันขาวที่ดีที่สุด“
Q : ฟันเหลือง ฟอกสีฟันดีไหม ?
A : สำหรับผู้ที่ต้องการฟอกสีฟันเนื่องจากมีปัญหาฟันเหลือง ฟันสีหมองคล้ำ ต้องได้รับการตรวจจากทันตแพทย์ก่อนเริ่มทำการรักษา เนื่องจากการฟอกสีฟันอาจไม่เหมาะสำหรับทุกคน การฟอกสีฟันอย่างปลอดภัยควรเลือกการฟอกสีฟันที่คลินิกหรือศูนย์ทันตกรรมที่ได้มาตรฐานและทำการรักษาโดยทันตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ
Q : ฟอกสีฟัน ฟันขาวขึ้นจริงไหม ?
A : ฟันจะขาวขึ้นจริง แต่ระดับความขาวจะขึ้นอยู่กับสีฟันเดิมของแต่ละคน ส่วนบุคคลที่ใช้น้ำยาฟอกสีฟันที่บ้านด้วยตัวเองตามคำแนะนำของทันตแพทย์ ถ้าฟอกสีฟันอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ ประมาณ 7-14 วัน ฟันจะขาวขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน
เเต่ถ้าซื้อแผ่นฟอกฟันขาวที่ขายตามท้องตลาด หรือ บนอินเทอร์เน็ตมาใช้ ทำให้ฟันขาวขึ้นก็จริง แต่ต้องระวังเรื่องความปลอดภัยว่าจะส่งผลเสีย / เป็นอันตรายต่อช่องปากของเราหรือไม่ ดังนั้นควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนซื้อมาใช้งาน พร้อมปรึกษาทันตแพทย์โดยตรงเพื่อความปลอดภัย
Q : น้ำยาที่ใช้ฟอกฟันขาว อันตรายต่อร่างกายหรือไม่ ?
A : การใช้น้ำยาฟอกสีฟันต้องทำตามคำแนะนำที่มาจากทันตแพทย์เท่านั้น เพราะการใช้น้ำยาฟอกสีฟันต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพื่อหลีกเลี่ยงอันตราย และผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น ส่วนใหญ่คนที่พบปัญหาจากการใช้น้ำยาฟอกสีฟันนั้น มักจะเป็นผู้ที่ไม่ยอมปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์ ขาดความรู้ในการใช้ผลิตภัณฑ์, ใช้ผลิตภัณฑ์เกินอัตราสัดส่วนที่กำหนดไว้หรือ ใช้ผลิตภัณฑ์ติดต่อกันนานเกินไป
Q : ผลข้างเคียงจากการฟอกสีฟัน
A : ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อคุณเข้ารับการฟอกสีฟัน คือ “อาการเสียวฟัน” รวมถึง “อาการระคายเคืองในช่องปาก” โดยปกติแล้วอาการเหล่านี้เป็นอาการชั่วคราวเท่านั้น อาการจะค่อยๆบรรเทาลงภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังการฟอกสีฟัน
Q : ครอบฟันแล้วฟอกสีฟันได้ไหม
A : เนื่องจากการฟอกสีฟัน จะมีปฏิกิริยาต่อฟันธรรมชาติเท่านั้น เพราะฉะนั้นหากฟันได้มีการอุดด้วยวัสดุอุดสีเหมือนฟัน (Filling), วีเนียร์ (Veneer), ครอบฟัน (Crown) และ ทำฟันปลอม (Denture) ไปแล้ว อาจจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนวัสดุอุดนั้นๆ เปลี่ยนวัสดุปิดผิวฟัน เปลี่ยนครอบฟัน รวมถึงเปลี่ยนฟันปลอมใหม่ หลังจากฟอกสีฟันเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ได้สีที่ดูเหมือนฟันธรรมชาติที่สุด
Q : ฟอกสีฟันด้วยตนเอง vs ฟอกที่คลินิก แบบไหนดีกว่ากัน
A : สำหรับการฟอกสีฟันที่คลินิกทำให้เห็นผลลัพธ์ทันทีหลังเข้ารับบริการด้วยการฟอกสีฟันโดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยการฟอกสีฟันที่คลินิกทันตกรรมและศูนย์ทันตกรรมต่างๆ มักใช้เทคโนโลยีในการรักษาควบคู่ด้วย แต่การฟอกฟันด้วยตนเองที่บ้านนั้น อาจจะต้องอาศัยวินัยในการทำอย่างสม่ำเสมอ และใช้เวลาพอสมควรจึงจะเห็นผลลัพธ์ ทั้งสองแบบตอบโจทย์ความต้องการของผู้รับบริการแตกต่างกัน การตัดสินใจอาจขึ้นอยู่กับความต้องการในด้านของผลลัพธ์รวมถึงปัจจัยเรื่องค่าใช้จ่ายนำมาประกอบการตัดสินใจ
Q : จัดฟันฟอกสีฟันได้ไหม
A : ขณะจัดฟัน ไม่แนะนำให้ทำการฟอกสีฟัน เนื่องจากอุปกรณ์จัดฟันในช่องปาก จะทำให้ประสิทธิภาพในการฟอกสีฟันลดลง และคราบสีจากอาหารยังเกาะที่เครื่องมือจัดฟันได้ง่าย ส่งผลให้การฟอกสีฟันไม่ได้รับผลดีเท่าที่ควร
Q : ฟอกสีฟันอยู่ได้นานแค่ไหน
A : การดูแลรักษาหลังเข้ารับบริการฟอกสีฟันคือสิ่งสำคัญในการรักษาระดับสีของฟันให้ขาวเป็นเวลานาน เนื่องจากมีปัจจัยมากมายที่สามารถส่งผลให้ระดับสีของฟันเปลี่ยนได้ สิ่งสำคัญคือการควบคุมพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มีผลกับสีของฟัน หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ รวมถึงรักษาความสะอาดของช่องปากและฟันเป็นประจำซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการดูแลรักษาฟันของเรานั่นเอง
Q : หลังฟอกสีฟัน กินอะไรได้บ้าง?
A : หลังจากที่ฟอกสีฟันใน 2 วันแรก ฟันจะดูดซับสีต่างๆ ได้ง่าย เนื่องจากการฟอกฟันขาวทำให้ชั้นเคลือบฟันเป็นรูพรุนมากขึ้นและดูดซับเม็ดสีได้ง่ายขึ้น จึงอยากเเนะนำอาหารที่สามารถทานได้หลังจากฟอกสีฟันในช่วงแรกๆ เพื่อให้ฟันคงความขาวและกระจ่างใสได้ยาวนานมากยิ่งขึ้น เช่น เนื้อสัตว์สีขาว (ปลาเนื้อขาวหรืออกไก่), ผักผลไม้ที่มีสีขาว (กล้วย หรือดอกแค), เครื่องดื่มสีขาว (นมจืด) ,ข้าวขาว หรือขนมปังขาว, ไข่ขาว หรือชีสที่มีสีขาว
Q : วิธีการดูแลฟันหลังการฟอกสีฟัน
A :
- แปรงฟันหลังรับประทานอาหาร เป็นการเริ่มต้นที่ดีในการดูแลสุขภาพปากและฟัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติอย่างยิ่ง เพื่อให้สีฟันสวยอยู่กับเราไปนาน ๆ
- ควรทำความสะอาดด้วยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 – 2 ครั้ง
- ควรทำการบ้วนปากด้วยน้ำยาผสมฟลูออไรด์ก่อนนอนทุกวัน โดยทำกลั้วน้ำยาและอมไว้ในปากอย่างน้อย 1 นาที และไม่ควรดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารภายใน 30 นาทีหลังการบ้วนปาก
- ควรพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน
เอกสารPDF : คำแนะนำการดูแลผู้ป่วยหลังทำการรักษา ฟอกสีฟัน (ดาวน์โหลด)
Q : อาการไม่พึงประสงค์หลังการฟอกสีฟัน
A : ในปัจจุบันนี้การฟอกสีฟันมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในการดูแลของทันตแพทย์ แต่อาจจะมีบางคนที่ได้รับผลข้างเคียงจากการฟอกสีฟัน ซึ่งอาการที่พบบ่อยจะมีดังนี้
เสียวฟัน อาการเสียวฟันเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด เนื่องจากระหว่างที่สารฟอกสีฟันซึมเข้าชั้นเคลือบฟัน ทำให้ปลายประสาทได้รับการกระทบ ทำให้เกิดอาการเสียวฟันได้ หรือเมื่อมีการใช้แสงกระตุ้นสารฟอกสีฟันเพื่อให้ทำปฏิกริยาก็อาจทำให้เกิดความร้อนจนฟันแห้ง ซึ่งเป็นต้นเหตุของอาการเสียวฟัน
อาการเสียวฟันจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 1-2 วัน ในระยะนี้ควรใช้ยาสีฟันที่ช่วยลดอาการเสียวฟัน และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการเสียวฟันได้ดังนี้
- หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มร้อนจัด เย็นจัด เช่น โจ๊ก ไอศกรีม น้ำแข็งใส
- หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสเปรี้ยวสูง เช่น ต้มยำมะนาว มะขาม น้ำส้ม
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
ระคายเคืองเหงือก อาจเกิดขึ้นได้จากการที่น้ำยาฟอกสีฟันสัมผัสกับเหงือก หรือริมฝีปาก และมักจะเกิดขึ้นกับสารฟอกสีฟันที่มีความเข้มข้นมาก เมื่อเริ่มกระบวนการฟอกสีฟันจะสังเกตเห็นว่าเหงือกมีสีที่เปลี่ยนไปเป็นสีขาวหลังจากโดนน้ำยา และจะค่อยๆ หายไปเองในเวลาอันสั้น
ซึ่งการฟอกสีฟันที่คลินิกทันตกรรม ทันตแพทย์จะป้องกันน้ำยาให้อยู่แล้ว แต่ถ้าหากใช้ชุดฟอกสีฟันที่บ้าน จะต้องดูให้แน่ใจว่าถาดฟอกสีฟันแนบสนิทกับฟัน เพื่อป้องกันการไหลออกมาของน้ำยาฟอกสีฟัน
รู้สึกเจ็บหรือปวด หลังจากฟอกสีฟัน จะเกิดขึ้นกับคนที่มีชั้นเคลือบฟันบาง เมื่อสารฟอกสีฟันที่ทาบนฟันซึมเข้าไปชั้นลึกขึ้น อาจกระทบกับปลายประสาทจนทำให้รู้สึกเจ็บ หรือน้ำยาสัมผัสกับเหงือกก็อาจจะรู้สึกเจ็บได้เช่นกัน อาการเจ็บหรือปวดไม่ควรเกิดขึ้นขณะฟอกสีฟัน ซึ่งทันตแพทย์จะหยุดทำทันทีเมื่อคนไข้รู้สึกเจ็บหรือปวดขณะฟอกสีฟัน
โดยทันตแพทย์จะรอให้อาการดีขึ้นก่อนค่อยดำเนินการฟอกสีฟันต่อ แต่บางกรณีทันตแพทย์จะปรับความเข้มข้นของน้ำยาฟอกสีฟันให้อ่อนลง และลดเวลาในการฟอกสีฟันให้สั้นลงเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
เฉดสีไม่ได้ตามต้องการ ก่อนฟอกสีฟันทันตแพทย์จะให้คำปรึกษาที่เหมาะสมถึงเฉดสีที่ต้องการ แต่ผลลัพธ์อาจไม่ได้สีเท่ากับเฉดที่เลือกไว้ เพราะจะขึ้นอยู่กับสีฟันเดิมของแต่ละคน นอกจากนี้หากใครใส่อุปกรณ์ทางทันตกรรมอื่นๆ เช่น ครอบฟัน อุดฟัน สะพานฟัน หรือฟันปลอม จะไม่ขาวสว่างขึ้นเหมือนฟันซี่อื่นๆ
ฟอกสีฟันที่ไหนดี?
การฟอกสีฟันอย่างปลอดภัยควรเลือกการฟอกสีฟันที่คลินิก ศูนย์ทันตกรรม หรือ โรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน และทำการรักษาโดยทันตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ ที่โรงพยาบาลทันตกรรม กรุงเทพ อินเตอร์เนชั่นแนล (Bangkok International Dental Hospital : BIDH) เป็นศูนย์เฉพาะทางทันตกรรมที่มีเทคโนโลยี และอุปกรณ์ทางด้านทันตกรรมขั้นสูงแห่งหนึ่งในประเทศไทย
มีทีมงานที่พร้อมให้บริการอย่างเต็มใจ อีกทั้งยังตั้งอยู่ในย่านใจกลางเมือง คุณจะได้รับคำปรึกษาและการดูแลจากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมในโรงพยาบาลเฉพาะทางที่พร้อมบริการและมีอุปกรณ์ครบครันทันสมัยที่สุด
ติดต่อเรา โรงพยาบาลฟัน สุขุมวิท ซอย 2
โรงพยาบาลทันตกรรมกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล (BIDH)
98 ซอยสุขุมวิท 2 แขวงคลองเตย, เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร 10110
Tel : 02-115-8977, 095-517-1587
Email : contact@dentalhospitalthailand.com
LINE ID : @DentalHospital
Google Maps : โรงพยาบาลฟัน กรุงเทพ BIDH